jatrophathai.com :: เว็บไซต์ " คนรักสบู่ดำ "
สวพ.ทร.เดินตามรอยพระราชดำรัสในหลวง เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ตั้งเป้าผลิตไบโอดีเซล 100% หรือ B100 จาก "สบู่ดำ" ภายใน 5 ปีควบคู่กับการออกแบบ และสร้างเรือที่ใช้ B100 ได้อย่างสมบูรณ์ ลั่นเป็น "ชาติแรกในโลก" ที่พร้อมยืนบนขาตัวเอง
จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เรื่อง "พลังงานทดแทน" โดยเฉพาะการใช้น้ำมัน "ไบโอดีเซล" ซึ่งทั้งกองทัพและประชาชนทั่วไปควรนำมาใช้เป็นพลังงานเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของพระองค์ กองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ซึ่งต้องการใช้น้ำมันในภารกิจต่างๆ ถึงปีละกว่า 37 ล้านลิตร จึงน้อมรับกระแสพระราชดำรัสมาปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
พล.ร.ต.สมหมาย ปราการสมุทร ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (ผอ.สวพ.ทร.) กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซลของทางหน่วยว่า แนวความคิดเรื่องพลังงานทดแทนโดยส่วนตัวเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน ครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาธิการ ร.ร.นายเรือ คิดว่า กองทัพเรือเป็นกองทัพที่ใช้พลังงานมากกว่าใครทั้งสิ้น เลยคิดว่าเราต้องหาพลังงานทดแทนมารองรับ
เมื่อย้ายมาประจำ สวพ.ทร. ก็มีโอกาสมาทำโครงการ เรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันเชื้อเพลิง (ไบโอดีเซล-สบู่ดำ B100) ซึ่งจริงๆ แล้วกองทัพเรือเคยทำโครงการไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชใช้แล้วมานานพอสมควรแล้ว โดยน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จะนำมาใช้กับยานพาหนะของกรมขนส่งทหารเรือ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยใช้เป็นเชื้อเพลิงในเรือมาก่อน
ประกอบกับโครงการไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มประสบกับปัญหารการดำเนินการ เนื่องจากน้ำมันปาล์มหายาก จึงมีราคาแพงขึ้น และไม่เพียงพอต่อความต้องการ
กระทั่งในปี 2550 สวพ.ทร.มีโครงการเชิญชวนข้าราชการในกองทัพเรือทั้งหมดส่งโครงการวิจัยเข้ามา ปรากฏว่ามีโครงการวิจัยส่งเข้ามาถึง 45 โครงการ
หนึ่งในจำนวนนั้น คือ โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของ น.อ.ชัชฤทธิ์ อังกุลดี นายทหารโครงการไบโอดีเซล ซึ่ง "ต่อยอด" แนวคิดดังกล่าวมาจากความริเริ่มของเจ้าอาวาสวัดพยัคฆาราม อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
น.อ.ชัชฤทธิ์ กล่าวว่า วัดพยัคฆารามเริ่มทำโครงการนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2544 เริ่มจากเอาใบและส่วนต่างๆ ของสบู่ดำมาทำปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมี ซึ่งประหยัดทั้งต้นทุนและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ภายหลังคนในชุมชนก็พบว่า น้ำมันที่ได้จากมเล็ดสบู่ดำสามารถบีบเอา "น้ำมัน" ออกมาได้ จึงทดลองนำเอามาเติม "รถอีแต๋น" ผลปรากฏว่าสามารถใช้การได้ เลยพัฒนาสูตรน้ำมันไบโอดีเซลเรื่อยมา
แต่ระยะเริ่มต้นก็ประสบปัญหาในการผลิต เนื่องจากได้ผลผลิตต่อเฉลี่ย 7 กก.ต่อลิตร ทางวัดจึงทดลองนำพันธุ์สบู่ดำพื้นเมืองมาผสมกับพันธุ์จากต่างประเทศ เช่น จากลาว เป็นต้น จนได้พันธุ์สบู่ดำที่มีความเหมาะสม คือ พันธุ์ "ทองสุพรรณ" ขึ้นมา
สบู่ดำพันธุ์ดังกล่าวมีคุณสมบัติเด่น คือ ให้น้ำมันมากขึ้น เฉลี่ย 3.5 กก.ต่อลิตร ให้ผลดก และให้ผลตอบแทนเร็ว คือ ปลูกเพียง 3 เดือนกว่าๆ ก็เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ซึ่งต่างจากพันธุ์ทั่วไปที่ต้องรอนานถึง 6 เดือน
ด้วยความเป็นคนในละแวกใกล้เคียงชุมชนวัดพยัคฆาราม น.อ.ชัชฤทธิ์ จึงรู้ซึ้งถึงคุณประโยชน์ของสบู่ดำที่สามารถนำมาผลิตไบโอดีเซลเป็นอย่างดี และขยายแนวคิดนี้ต่อต้นสังกัดในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการพัฒนาไบโอดีเซลจากสบู่ดำ ก็คือ ไม่สามารถหามาตรฐานมารับประกันคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลได้ จึงทำให้ผู้บริโภคไม่ค่อยกล้าใช้ ทั้งยังมีกระแสโจมตีจากผู้ที่ไม่มีความเข้าใจและเสียประโยชน์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปริมาณสบู่ดำที่จะนำมาผลิตก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากมีนายทุนมากว้านซื้อส่งออกต่างประเทศในราคาสูงถึง กก.ละ 15 บาท แต่ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 14 บาทต่อลิตร จึงไม่สามารถที่จะสู้ราคาตามที่นายทุนเสนอซื้อได้
ด้วยเหตุนี้ สวพ.ทร.จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซลให้เติบโตขึ้นกว่าเดิม โดยเข้ามาสนับสนุนการกลั่นเพื่อช่วยสกัด "กลีเซอรีน" ออกจากน้ำมัน เพื่อให้คุณภาพน้ำมันสามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบสูงๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่น่าสนใจ คือ หากมีโรงกลั่นดีๆ ก็สามารถแยก "เบนซิน" ออกมาใช้ได้ด้วย!!!
ขณะที่ น.อ.วิทวัส ณ นคร รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ช่วยขยายความว่า เหตุที่การทำไบโอดีเซลจากสบู่ดำดีกว่าสกัดจากปาล์ม คือ
1.น้ำมันปาล์ม ไม่สามารถทำน้ำมันไบโอดีเซล 100% หรือ B100 ได้ เพราะน้ำมันปาล์มข้นมาก และขั้นตอนการกลั่นมีความยุ่งยากซับซ้อนอีกหลายขั้นตอน แต่สบู่ดำสามารถทำไบโอดีเซล 100% ตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงได้เลย
2.การปลูกปาล์มนั้น ต้องการ "น้ำ" เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นว่าปลูกในพื้นที่มรสุม มีน้ำถึง ไม่ใช่ปลูกได้ทุกพื้นที่ ต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่เป็นอย่างดี ต้องมีระบบท่อน้ำ ตัดแล้วต้องเก็บทันที และเข้าโรงกลั่นเลย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยาก
ส่วนสบู่ดำนั้นปลูกแล้วทิ้งได้เลย...ปลูกได้แม้กระทั่งพื้นที่ที่เป็นหิน หรือดินทราย โดยพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกสบู่ดำ คือ ภาคอีสานและภาคตะวันออก
3.ปาล์มใช้แต่ตัวเมล็ดเท่านั้น แต่ส่วนอื่นของสบู่ดำ เช่น ราก ต้น ใบ หรือแม้กระทั่งกากจากเปลือกเมล็ดที่เราใช้ทำน้ำมันแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งเป็นเครื่องสำอาง หรือหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง และเป็นยารักษาโรค
สำหรับการดำเนินตามรอยพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา น.อ.วิทวัส ยืนยันว่า สวพ.ทร.จะเดินตามรอยพระราชดำรัสเรื่องการใช้เรือที่ใช้เชื้อเพลิง B100 และจะเอาผลของการวิจัยไปออกแบบสร้างเรือที่ใช้กับน้ำมัน B100 ได้
เป้าหมายของ สวพ.ทร. จะเสนอของบประมาณจากสภาวิจัยแห่งชาติเป็นโครงการ 5 ปี โดยจะทำคู่ขนานกับการออกแบบ และะสร้างเรือให้สามารถใช้ B100 ได้โดยสมบูรณ์ และคาดว่า 3 ปีผ่านไปก็น่าจะเริ่ม "ทดสอบเรือ" ได้แล้ว
โครงการนี้จะขยายผลไปใช้กับเรือขนส่งในแม่น้ำลำคลอง และขนส่งตามชายฝั่งทะเล รวมทั้งเรือตรวจการณ์ เรือโดยสาร หรือกระทั่งเรือรบในอนาคต
ทั้งนี้ จะส่งเสริมให้กำลังพลของ ทร.ในภูมิภาคต่างๆ ที่มีพื้นที่มากๆ เช่น หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง ฯลฯ ปลูกสบู่ดำ และจะรับซื้อคืนเพื่อสร้างรายได้แก่กำลังพลและสนับสนุนการผลิต B100 ในระยะยาว
ที่น่าภาคภูมิใจกว่านั้น คือ การประกาศใช้น้ำมัน B100 โดยใช้สบู่ดำกับเรือในกองทัพ ไทยถือเป็น "ชาติแรกในโลก" เพราะขนาดสหภาพยุโรป หรืออียูยังตั้งเป้าแค่จะใช้ B20 อย่างเป็นทางการในปี 2010 เท่านั้น!!!
นับเป็นก้าวย่างที่ "พอเพียง" ที่ยืนอยู่บนขาของตัวเองตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงอย่างแท้จริง
โดย คม ชัด ลึก ออนไลน์